บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ”
สืบเนื่องจากข่าว พนักงานสอบสวน บก.ป ได้ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก นาย ษ. หรือ ทนาย ต. ต้องหา คดีฉ้อโกง ฟอกเงิน และ สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓(๑๘) มาตรา ๕ มาตรา ๙ วรรคสองและมาตรา ๖๐ ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ โดยคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนได้บรรยายว่า การกระทำของนายทนาย ต .ผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรับปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่นั้น
ทำให้สังคมงุนงงกับข้อหา “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ”ว่า มีด้วยหรือ ?
มาดูข้อกฎหมายในเรื่องนี้กัน
ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”
มาตรา ๓๔๑ ผู้ใด โดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท
หากจะพูดให้เข้าใจง่าย “ ฉ้อโกง” คือ “หลอกลวงผู้อื่นแล้วได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอก”
ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น :
มาตรา ๓๔๒ ถ้าในการกระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ผู้กระทำ
(๑) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ฉ้อโกงประชาชน :
มาตรา ๓๔๓ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน” ดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ (๑) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ (๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๗ ปี และปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาทถึง๑๔๐,๐๐๐ บาท
มาตรา ๓๔๘ ความผิดในหมวดนี้เป็น “ ความผิดอันยอมความ” ได้ ยกเว้น ความผิดตามมาตรา ๓๔๓ ( ฉ้อโกงประชาชน )
มีข้อสังเกตว่า เมื่อความผิดฐาน “ ฉ้อโกง” ( ยกเว้นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ) เป็น “ ความผิดอันยอมความได้แล้ว ” ผู้เสียหายจะต้อง “ ร้องทุกข์” ภายในกำหนด ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้น เป็นอันขาดอายุความ ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖
ไม่เห็นจะมี “ ฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ ” เลย แล้ว “ ฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ” มาจากไหน ?
“ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” นั้นจะอยู่ใน “กฎหมายฟอกเงิน” ซึ่งเป็นมาตรการในการดำเนินคดีกับผู้โอน รับโอน ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด และการยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด
ทั้งนี้ คำว่า “ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” นั้นอาจมีความหมายความว่า เป็นบุคคลผู้มีหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการมรดก หรือ ผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วกระทำการฉ้อโกง โดยการหลอกลวง แล้วเอาไปซึ่งทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไปจำนวนหลายครั้งหลายคราเป็นอาจิณ
“ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” บัญญัติอยู่ใน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ อันเป็นการผสมผสานระหว่าง “กฎหมายอาญา” ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป และ กฎหมายเฉพาะ ( พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรม และเป็นการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับประชาชน
กระทำผิดฐานฉ้อโกง กี่ครั้ง ? จึงจะถือว่า “เป็นปกติธุระ”
ประมวลกฎหมายอาญา และ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ ไม่ได้บัญญัติ บทนิยามความหมายของ คำว่า “ปกติธุระ” หรือ “ฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ”ว่ามีความหมายอย่างไร แล้วจะตีความอย่างไรว่าเป็น “ปกติธุระ”
สำนักงานคณะกรรการกฤษฎีกา ได้เคยมีเอกสารความรู้เกี่ยวกับการแบ่งประเภทความผิดอาญา
“ ความผิดเป็นปกติธุระ” คือ ความผิดที่ประกอบไปด้วยการกระทำที่มีพฤติกรรมการกระทำ
บ่อยๆ ซ้ำๆ จึงจะเข้าเป็นองค์ประกอบความผิดในความผิดฐานนั้นๆ เช่น ประพฤติตนเป็น
ปกติธุระ เป็นผู้จัดหาที่พำนัก ที่ซ่อนเร้น หรือที่ประชุมให้บุคคลซึ่งตนรู้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๔
“ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” เป็น “ ความผิดอาญา” ที่อาจเข้าข่ายผิด “กฎหมายฟอกเงิน”ด้วย
คำว่า “ ปกติธุระ” หมายถึง กระทำซ้ำๆ กัน มากกว่า ๑ ครั้ง หรือ กระทำความผิดเป็น
สันดาน ในลักษณะที่ “จะทำต่อๆไป” และ เจตนาจะ “ ทำอย่างสม่ำเสมอ”
เปรียบเทียบความผิดและโทษ :
“ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” : ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๕, มาตรา ๙ วรรคสอง, มาตรา ๖๐ คือ จำคุกตั้งแต่ ๑ - ๑๐ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐- ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่โทษความผิดฐาน “ฉ้อโกง ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท
ส่วนความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน” ตามมาตรา ๓๔๓ มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่า “ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” : ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖๐ มีโทษหนักกว่า “ ฉ้อโกง ” ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาดูกันว่า ความผิดใดจะเป็น “ ความผิดมูลฐาน” ในอันที่จะเข้ากฎหมายฟอกเงิน
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒
มาตรา ๓ บทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” มี ๒๑ มูลฐาน
(๑) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
(๒) ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ
(๓) ความผิดเกี่ยวกับการ “ ฉ้อโกงประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการ “ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ( หรือ แชร์ลูกโซ่ )
(๔) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินหรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทำโดยกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น
(๕) ………………..
(๑๘) ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา “ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ”
จะเห็นได้ว่า “ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ" และ “การฟอกเงิน” มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการ “ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” นั้น มักจะมีการหมุนเวียนทรัพย์สินอย่างซับซ้อน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลียงการติดตามและปิดบังแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม
ส่วนการ “ ฟอกเงิน” เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือแปรรูปทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ฉ้อโกง เพื่อให้ดูเหมือนเป็นทรัพย์สินที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้
พฤติกรรมที่อาจเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า ความผิดฐาน “ ฉ้อโกง” ตามกฎหมายอาญา อาจเกี่ยวข้องกับการ “ ฟอกเงิน” เช่น
(๑) “ การโอนเงินผ่านหลายบัญชี” เมื่อลูกหนี้ทำการฉ้อโกงและโอนเงินผ่านบัญชีหลายชั้น เพื่อกระจายเงินและทำให้ติดตามแหล่งที่มายากขึ้น เจ้าหนี้ควรตรวจสอบการโอนเงินที่มีลักษณะซับซ้อน
(๒) “การลงทุนในทรัพย์สินอื่น ๆ” การใช้เงินที่ได้จากการฉ้อโกงเพื่อซื้อทรัพย์สินหรือธุรกิจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้กระทำการฟอกเงินใช้เพื่อปกปิด ที่มาของเงิน เจ้าหนี้ควรระวังเมื่อลูกหนี้มีการซื้อทรัพย์สินในลักษณะนี้
(๓) การสร้างธุรกรรมปลอม การสร้างธุรกรรมปลอมเป็นการกระทำที่พบได้บ่อย โดยผู้ที่กระทำการฟอกเงินอาจสร้างธุรกรรมทางการเงินที่ไม่สมจริงเพื่อทำให้เงินดูเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย
“ การฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” จึงเป็นการกระทำที่กำหนดในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยในมาตรา ๓ (๑๘) ซึ่งกำหนดว่าการกระทำใด ๆ ที่มีการซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายจะถือเป็นการ “ฟอกเงิน”
แม้ผู้กระทำผิดจะกระทำผิดฐาน “ ฉ้อโกง” ด้วยการแสดงข้อความเท็จ ปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ แล้วได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอก (ผู้เสียหาย ) จำนวนหลายครั้ง ต่างวันและต่างเวลากันก็ตาม อีกทั้งเมื่อโจทก์จะฟ้องจำเลย ก็ได้ฟ้องจำเลยขอให้ศาลลงโทษจำเลยเป็น “ รายกรรม” หรือ “รายกระทง” ก็ตาม แต่จำนวนหลายกรรมตามฟ้อง ก็หาได้หมายความว่าเป็น “กระทำผิดเป็นปกติธุระ” ไม่ หากแต่จะต้องได้ความว่า “ หลายครั้งหลายคราเป็นอาจิณ”
การดำเนินคดีฐาน “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วย
ความจริงแล้ว ความผิดฐาน “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” นั้น ไม่ใช่เพิ่งจะมีหรือเกิดขึ้นในคดีนี้ หรือ คดีทนาย ต. เป็นคดีแรก หากแต่ก่อนหน้านั้นก็เคยมีการบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินในฐานความผิด “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” มาแล้ว เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ก็ได้มี
“ คำสั่งสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ ย.๒๔๘ / ๒๕๕๙
เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
“ พฤติการณ์ของนางสาว ก. มีการเปิดบัญชีเงินฝากหลายธนาคาร และมีการทำธุรกรรมทางการเงินลักษณะโอนเงินเข้าบัญชีและถูกทยอยถอนเงินทางเครื่องให้บริการทางการเงินอัตโนมัติจนเกือบหมดภายในวันเดียวกัน ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากผู้ที่แจ้งความกับเจ้าพนักงานตำรวจก็พบว่า อยู่ในท้องที่ต่างกัน โดยมีพฤติการณ์คล้ายคลึงกัน คือ การหลอกลวงให้โอนเงินและทำการถอนเงินออกภายในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งพฤติการณ์ของนางสาว ก. กับพวก เป็นพฤติการณ์ที่แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยมุ่งที่จะได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้แจ้งความ เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้แจ้งความต้องสูญเสียเงินจากการหลอกลวงดังกล่าว พฤติการณ์จึงเป็นการกระทำความผิดฐานถ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อมีการหลอกลวงผู้ร้องเรียน หลายคนในหลายพื้นที่ ให้โอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้เพื่อรองรับเงินของผู้แจ้งความ พฤติการณ์จึงมีลักษณะ “กระทำความผิดซ้ำ ๆ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามนัย มาตรา ๓ (๑๘)
คำสั่งสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับนี้จะอธิบายคำว่า “ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” ได้ดี และเห็นความหมาย
การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่ ทนาย ต. ว่ากระทำผิดฐาน ฉ้อโกง, ฟอกเงิน และ สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ (๑๘) มาตรา ๕ มาตรา ๙ วรรคสองและมาตรา ๖๐ ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ โดยคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนได้บรรยายว่า การกระทำของนายทนาย ต .ผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรับปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเป็นข้อหาใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นการบูรณาการการใช้กฎหมายระหว่างกฎหมายอาญา กับกฎหมายฟอกเงิน เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมและเป็นการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับสุจริตชน
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ท่านคงถึง บางอ้อ........
ส่วนทนายคนดัง จะรอด หรือ ไม่รอด คงต้องติดตามตอนต่อไป
***** นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ( คนที่สอง ) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ( สมัยที่ ๒๕)
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น