POST NEWS ONLINE “ เก็บของได้ ทำไมติดคุก ”

     บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ เก็บของได้ ทำไมติดคุก ”สืบเนื่องจาก พาดหัวข่าวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า


 “ จับลุงขับแท็กซี่ เก็บทอง 49 บาท อ้างเอาทอง 2 บาทไปขาย เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นของจริงไหม”

          ตำรวจนำกำลังเข้า “จับกุม” ลุงขับแท็กซี่ เก็บทอง 49 บาท ย่านนางเลิ้ง ก่อนนำตัวมาสอบปากคำ อ้างนำทองไปขายเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นทองจริงหรือไม่ 

          ส่วนที่เหลือตำรวจยืดคืนเป็นของกลางแล้ว เนื่องจากปรากฏตามภาพกล้องวงจรปิดเห็น คนขับรถแท็กซี่ได้มีการลงไปหยิบกระเป๋าที่ตกอยู่กลางถนนบรมราชชนนีขาออก...

  จึงเกิดการโต้เถียงในสังคมว่า

          “ ลุงแท็กซี่” ไม่ผิด” เพราะเป็นของตกหล่น ใครเห็น ใครเก็บได้ คนนั้นก็เป็นเจ้าของ ซิ”

          “ลุงแท็กซี่ผิด “ลักทรัพย์” เพราะเมื่อเก็บของที่ตกหล่นได้ ของที่ไม่ใช่ของเรา ต้องเอาไปคืน เจ้าของซิ”


           ก็จะมีคนตั้งคำถามต่อไปว่า “ แล้วจะเอาไปคืนใครหละ ในเมื่อของนั้นมันตกหล่นลงมาจากรถคันหนึ่ง แล้วรถคันนั้นก็วิ่งไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ใครเป็นเจ้าของไม่รู้เลยแล้วจะคืนใคร”

           บางคนตอบว่า “ ก็ต้องนำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้ตำรวจสืบหาเจ้าของ”

            บางคนมองโลกในแง่ร้ายว่า “ กลัวถูกอม.....” 

           คำตอบไหน ? จะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง และเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นกับเราได้ และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องติดคุกข้อหา “ลักทรัพย์” 

            มาดูข้อกฎหมายในเรื่องนี้ 

            ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

              มาตรา 1323 บุคคลเก็บได้ซึ่ง “ทรัพย์สินหาย” ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

        (1) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น หรือ

        (2) แจ้งแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นโดยมิชักช้า หรือ

        (3) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ เจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ภายในสามวันและแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบหาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น


        แต่ถ้าไม่ทราบตัวผู้ของหาย เจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินก็ดี หรือบุคคลดังระบุนั้นไม่รับมอบทรัพย์สินก็ดี ท่านให้ดำเนินการตามวิธีอันบัญญัติไว้ในอนุมาตรา (3)

        ทั้งนี้ ท่านว่า ผู้เก็บได้ซึ่ง “ทรัพย์สินหาย” ต้องรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ด้วยความระมัดระวังอันสมควรจนกว่าจะส่งมอบ

           หากเก็บทรัพย์สินของผู้อื่นได้ แต่กลับไม่ได้ทำตามขั้นตอนตามกฎหมายดังกล่าว อาจมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ( แล้วแต่กรณี ) ดังนี้

         (1) “ลักทรัพย์” ของผู้อื่น ตาม มาตรา 334 ( ผู้ใด เอาไป ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ไปโดยทุจริต แสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบ )

           ต้องระวางโทษ “จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท”

           แต่ถ้า เอาทรัพย์นั้นไปในช่วงเวลากลางคืน ก็อาจมีความผิดฐาน “ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน” ตามมาตรา 335(1) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000บาทถึง 100,000 บาท 

หรืออาจเป็นความผิด

        (2). “ ยักยอกทรัพย์สินหาย” ตาม มาตรา 352 วรรค 2  

     ( ถ้าทรัพย์ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิดโดยเป็น “ทรัพย์สินหาย” ซึ่งผู้กระทำผิดเก็บได้ หรือ มีผู้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด ) 

      ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    แล้ว “ลักทรัพย์” กับ “ยักยอกทรัพย์สินหาย” ต่างกันตรงไหน?

    (1 ) กรณี “ทรัพย์สินหาย” การครอบครองทรัพย์นั้น จะยังคงอยู่ในความครอบครองของเจ้าของหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นเรื่องไป

  *** โดยหากเก็บเอาทรัพย์นั้นไป โดย “รู้” หรือ “ควรรู้” ว่า เจ้าของกำลังติดตามหรือจะติดตามเอาคืน ( เจ้าของ ไม่ได้สละเจตนาในการครอบครองทรัพย์นั้นไว้) หากมีใครมาเอาทรัพย์นั้นไป ก็จะเป็นความผิดฐาน “ลักทรัพย์”

 *** แต่ถ้า “ ไม่รู้” หรือ “ไม่มีเหตุอันควรรู้” ว่า เจ้าของกำลังติดตามเอาคืน ก็เป็นความผิด ฐาน “ยักยอกทรัพย์สินหาย”

               เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด มาดูว่า “ทรัพย์สินหาย” มีความหมายอย่างไร

              “ทรัพย์สินหาย” คือ ทรัพย์สินที่มีเจ้าของ แต่เจ้าของไม่รู้ว่าทรัพย์สินนั้นตกหายที่ใด และไม่รู้ว่าจะติดตามของหายคืนได้ที่ใด จึงถือว่า การครอบครองหลุดออกจากตัวเจ้าของแล้ว โดยเจ้าของมิได้ตั้งใจหรือ ไม่ใช่สละการครอบครอง 

                เมื่อ “ของตกหาย” ผู้ที่เก็บได้ ถือว่า “เข้าครอบครองทรัพย์สินที่ตกหาย” (แทน) ถ้าเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือ เป็นของผู้อื่น โดยทุจริต 

  (2) อัตราโทษของความผิดฐาน “ ลักทรัพย์” ตามมาตรา 334 จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท”   

        แต่อัตราโทษของความผิดฐาน “ ยักยอกทรัพย์สินหาย” ตามมาตรา 352 วรรคสอง คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท (ซึ่งเบากว่า) 

             กรณี “ลุงแท็กซี่เก็บทอง หนัก 49 บาท ได้ แล้วไม่ได้ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ทั้งที่ ปรากฏข่าวชัดแจ้งว่า “เจ้าของได้พยายามติดตามเอาคืน”จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจากกล้องวงจรปิด พบภาพ “ลุงแท็กซี่” ลงถนนไปเก็บกระเป๋า (ซี่งภายในมีทองน้ำหนัก 49 บาท) ซึ่งตกหล่นลงมาจากรถยนต์คันหนึ่ง จึงติดตามจับกุมลุงแท็กซี่ได้พร้อมทองหนัก 49 บาท 

               ไม่ว่า ลุงแท็กซี่จะอ้างเหตุผลใดใด เช่น ไม่รู้จะไปคืนที่ใด คืนกับใคร ฯลฯ ก็ไม่พ้นความผิดฐาน “ลักทรัพย์”ไปได้

                ล่าสุด พนักงานอัยการฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องลุงแท็กซี่ในความผิดฐาน “ลักทรัพย์” ต่อศาลอาญาตลิ่งชัน ในความผิดฐาน “ ลักทรัพย์” 

                “ จำเลยได้ลักเอากระเป๋า ภายในมีทองคำรูปพรรณและทองคำแท่ง น้ำหนักประมาณ 49 บาท มูลค่า 1,***,*** บาท ของนาย............................. ผู้เสียหาย ที่ทำหล่นหายไปใกล้สะพานลอย ย่าน.............โดยจำเลยเก็บทรัพย์สินดังกล่าวได้ โดยรู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายกำลังติดตามหาทรัพย์ดังกล่าว อันเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยทุจริต”

                จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจ แล้วส่งรายงานการสืบเสาะให้ศาลพิจารณาประกอบคำพิพากษาต่อไป 

     ภาพจำจะเป็นอีกภาพหนึ่ง ถ้า......

     ลุงแท็กซี่เก็บทองหนัก 49 บาท แล้วประกาศหาเจ้าของ เช่น แจ้ง จส.100 หรือ สวพ.91 

              ภาพจะกลายเป็น “ แท็กซี่ฮีโร่ เก็บทองหนัก 49 บาท ตามหาเจ้าของ”

              กรณี “ลุงแท็กซี่เก็บทองได้” จึงเป็น อุทาหรณ์ที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะในชีวิตประจำวัน เราอาจเจอ หรือ เก็บทรัพย์สินของผู้อื่นได้ตามท้องถนน หรือ ที่ต่างๆ อาจกลายเป็น“ทุกขลาภ” ได้ เพราะบางคนอาจคิดว่า “ รวยแล้ว โชคดีแล้ว เราเก็บทองได้ เราเก็บเงินได้ เราเก็บโทรศัพท์ได้” และบางคนคิดว่า “คงไม่มีคนเห็น” ความจริงแล้วปัจจุบันกล้องวงจรปิดมีอยู่ทั่วไปตามท้องถนนทั้งของรัฐ (มาตรการรักษาความปลอดภัย) และกล้องวงจรปิดของเอกชน รวมถึงกล้องหน้ารถด้วย  

                 บทความทางกฎหมายเรื่องนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ท่านไม่ตกเป็น “จำเลย” ในความผิดฐาน “ ลักทรัพย์” หรือ “ยักยอกทรัพย์สินหาย” โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์


• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ 

(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ 25)

30 พฤษภาคม 2567


ความคิดเห็น