POSTNEWS ONLINE บทความ“ ข้อความแชทในไลน์ (LINE) หรือเฟสบุ๊ค (Facebook) ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องหนี้เงินกู้ยืม หรือ ปลดหนี้ ได้หรือไม่ ? ”
“ ข้อความแชทในไลน์ (LINE) หรือเฟสบุ๊ค (Facebook) ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องหนี้เงินกู้ยืม หรือ ปลดหนี้ ได้หรือไม่ ? ”
*การกู้ยืมเงิน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ ?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓
วรรคแรก บัญญัติว่า
“การกู้ยืมเงิน กว่าสองพันบาทขึ้นไป
นั้น ถ้ามิได้ มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง
ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหากจะแปลความในทางตรงข้าม ก็ได้ว่า
“การกู้ยืมเงินกัน
หากมีจำนวนไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมเงิน
ผู้ให้กู้ยืมเงินก็มีสิทธิฟ้องร้องบังคับให้ผู้กู้ยืมเงินนั้นชำระหนี้ได้”
พยานหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือดังกล่าว ไม่จำเป็นที่จะต้องทำขึ้นเป็นกระดาษดังเช่น“สัญญากู้ยืมเงิน” เสมอไปไม่ หลักฐานเป็นหนังสือสามารถทำขึ้นบนวัตถุอื่นใดก็ได้ เพียงแต่ให้ปรากฏข้อความเป็นตัวอักษร สามารถสื่อสารกันให้เข้าใจได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันระหว่างผู้ให้กู้ยืมเงินกับผู้กู้ยืมเงินและผู้กู้ยืมเงินได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย จึงจะถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ตามมาตรา ๖๕๓ วรรคแรก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว
หากท่านเป็นฝ่าย เจ้าหนี้ หรือ
ผู้ให้กู้ยืมเงิน ก็อาจเกิดความกังวลว่า “ เราให้เพื่อน หรือให้ญาติ หรือ
ให้ลูกน้อง หรือ คนรู้จักกู้ยืมเงินไป (
ในจำนวนเงินที่มากกว่า ๒,๐๐๐ บาท ) แต่กลับไม่ได้ให้ ลูกหนี้ ผู้กู้ยืมเงินเรา
ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้เลย เนื่องจากไว้เนื้อเชื่อใจกัน
หากลูกหนี้ไม่ยอมคืนเงินที่กู้ยืมไป คราวนี้จะทำอย่างไรในเมื่อ ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓
บัญญัติไว้แบบนั้น
และหากเราเป็นฝ่ายลูกหนี้ เราชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ไปแล้วบางส่วน หรือทั้งหมดแล้ว
แต่ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือว่า
เราได้ชำระหนี้เงินกู้คืนแล้ว (บางส่วน หรือทั้งหมด)
หรือไม่ได้แทงเพิกถอนเมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว คราวนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง หากเจ้าหนี้กลับมาเรียกให้ชำระหนี้อีก
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก และมีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก กฎหมายจึงมีความจำเป็นต้องก้าวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
จึงได้มี พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ประกาศใช้บังคับเพื่อควบคุมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
จึงเกิดประเด็นคำถามว่า “ การกู้ยืมเงินโดยใช้วิธีส่งข้อความผ่านทางไลน์
(LINE) หรือทางเฟสบุ๊ค (Facebook) ซึ่งเป็นระบบออน์ไลน์
มีข้อความ มีตัวอักษร ตัวหนังสือ แต่ไม่ปรากฏลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเงินแต่อย่างใด
จะใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับให้ผู้กู้ยืมเงินชำระหนี้จำนวนที่กู้ยืมกันได้หรือไม่
?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ
บทนิยาม (ตามมาตรา ๔ )
- “ ธุรกรรม ”
หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์หรือในการดำเนินงานของรัฐตามที่กำหนดในหมวด ๔
- “ อิเล็กทรอนิกส์ ”
หมายความว่า การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน และให้หมายความรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงวิธีการทางแม่เหล็กหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีต่าง ๆ
เช่นว่านั้น
-“ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ” หมายความว่า
ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
- “ ข้อความ ” หมายความว่า
เรื่องราว หรือข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบของตัวอักษร ตัวเลข เสียง ภาพ
หรือรูปแบบอื่นใดที่สื่อความหมายได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเองหรือโดยผ่านวิธีการใดๆ
- “ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
” หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข
โทรพิมพ์ หรือโทรสาร
- “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์”
หมายความว่า อักษร อักขระ ตัวเลข
เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นด้วย
จากบทนิยามดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การกู้ยืมเงินโดยส่งข้อความสื่อสารกันผ่านทางไลน์ (LINE) หรือทางเฟสบุ๊ค (Facebook) นั้น ถือได้ว่า “ ข้อความนั้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ”
นอกจากนี้ ตามตามมาตรา ๗ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะ
เหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ( แปลความได้ว่า
แม้เป็น ข้อความที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ก็ใช้บังคับได้ )
มาตรา ๘ วรรคแรก “ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ
มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง การจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาให้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง
และให้ถือว่าข้อความนั้น เป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือ มีเอกสารมาแสดงแล้ว
ดังนั้น ผู้กู้ยืมเงิน จึงไม่อาจที่จะปฏิเสธความผูกพันกับ
ผู้ให้กู้ยืมเงิน ตามข้อความที่มีการสื่อสารส่ง “ข้อความ” สื่อสารกันผ่านทางไลน์
(LINE) หรือทางเฟสบุ๊ค (Facebook) ได้ โดยผลของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงถือได้ว่าการส่งข้อความสื่อสารกันผ่านทางไลน์
(LINE) หรือทางเฟสบุ๊ค (Facebook) ระหว่าง
ผู้ให้กู้ยืมเงิน กับ ผู้กู้ยืมเงิน นั้น เป็นหลักฐานเป็นหนังสือโดยที่มี ผู้กู้ยืม
ได้ ลงลายมือชื่อ ไว้เป็นสำคัญแล้ว
คราวนี้ มาดูแนวทางที่ศาลพิพากษาในเรื่องดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๐๘๙ / ๒๕๕๖
“การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสด ควิกแคช ไปถอนเงินและ
ใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการ ลงลายมือชื่อตนเอง
ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และ กดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป
การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗, ๘ และมาตรา ๙ ประกอบกับคดีนี้ จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์
ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่า จำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้
โดยจำเลยลงลายมือชื่อ มาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
และ คำพิพากษาฎีกาที่
๖๗๕๗ / ๒๕๖๐
“ ข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค…การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ.๒๕๔๔ มาใช้บังคับด้วย ตามมาตรา ๗ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
และมาตรา ๘ บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ
มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง
ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
ดังนั้น ข้อความดังกล่าวที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค แม้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตามแต่การส่งข้อความของโจทก์ทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความดังกล่าวทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยจริง
ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๔๐ แล้ว”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๒๐๘๕ / ๒๕๖๖
โจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชตว่า
“ตัวเองไม่ต้องคืนเงินพี่แล้วนะ แล้วพี่ก็จะไม่ทวงไม่ทำให้ตัวเองลำบากใจอีก
พี่ขอโทษกับเรื่องราวที่ผ่านมา และอยากให้รู้ว่าพี่ยังรักตัวเองอยู่” เป็นการ
แสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลย แม้โจทก์จะอ้างว่า เป็นการปลดหนี้จำนวนอื่นและข้อความไม่ได้ระบุชัดว่ามูลหนี้ใด
แต่หนี้อื่นเป็นเพียงจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ
ระหว่างคนรักที่ให้แก่แก่กันโดยเสน่หา และหนี้เงินยืมคงมีเพียงหนี้รายนี้เท่านั้น
เมื่อการส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็น การสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ถือเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗, ๘ มาใช้บังคับ ฟังได้ว่า จำเลยได้รับการปลดหนี้จากการกู้ยืมเงินตามฟ้องโจทก์แล้ว
จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์
ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๔๐ โจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยมีเนื้อความว่า “ตัวเองไม่ต้องคืนเงินพี่แล้วนะ แล้วพี่ก็จะไม่ทวงไม่ทำให้ตัวเองลำบากใจอีก พี่ขอโทษกับเรื่องราวที่ผ่านมา และอยากให้รู้ว่าพี่ยังรักตัวเองอยู่” ข้อความการสนทนาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะทวงเงินที่จำเลยยืมไปอีก เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๔๐วรรคสอง มาถึงบรรทัดนี้หวังผู้อ่านคงจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ว่า
การส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือสื่อออนไลน์ถือเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ มาใช้บังคับ ซึ่ง ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ถือว่าเป็น “หลักฐานเป็นหนังสือ” อันเป็นการทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิด ความยุติธรรม และ เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน(คนที่สอง)ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น