POSTNEWS​ ONLINE​ บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง " คณิตศาสตร์แบบนิติศาสตร์ สาม บวกสองบวกห้าเท่ากับแปด " ​

   บทความทางกฎหมาย

 โดยอัยการวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์

เรื่อง " คณิตศาสตร์แบบนิติศาสตร์ สาม บวกสองบวกห้าเท่ากับแปด "


 

 

                 เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีของ พันตำรวจโทหรือ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย ซึ่งเดินทางกลับมาประเทศไทยภายหลังหลบหนีออกไปจากประเทศไทยนานหลายปี รวมทั้งสิ้น ๓ คดี คือ

               คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ จำคุก ๓ ปี , คดีหวยบนดิน จำคุก ๒ ปี และคดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป จำคุก ๕ ปี  โดยให้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด ๘ ปี 

      จึงทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเกิดความสงสัยว่า

       เหตุใด เมื่อโทษจำคุกคดีแรก ๓ ปี คดีที่สองจำคุก ๒ ปีและคดีที่สาม จำคุก ๕ ปี สาม บวก สอง บวก ห้า ยังไงยังไงก็ต้อง สิบปี แล้วเหตุใดศาลจึงออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด แค่    ปี หายไปไหน ๒ ปี บ้างก็ว่า“ศาลบวกผิดหรือเปล่า ? บ้างก็ว่า “เกิดอภินิหารนิติศาสตร์หรือเปล่า ?

               เพื่อให้เกิดความเข้าใจ “ คณิตศาสตร์ แบบ นิติศาสตร์” ผู้เขียนขออธิบายดังนี้

     

    คดีแรก  : คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ คดีหมายเลขดำที่ อม. ๓/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๔/๒๕๕๑ คดีระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)  ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์  พันตำรวจโททักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย พิพากษาเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๒ ให้จำคุก ๓ ปี

              คดีที่สอง.  : คดีหวยบนดิน คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑/ ๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑๐/ ๒๕๕๒ ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พันตำรวจโททักษิณหรือ นายทักษิณ ชินวัตร  ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๗ คน จำเลย พิพากษาเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ให้จำคุก ๒ ปี

 

              คดีที่สาม  : คดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์แก่ชินคอร์ป คดีหมายเลขดำที่ อม. ๙/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๕/๒๕๕๑ ของศาลนี้ ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ พันตำรวจโททักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย  พิพากษาเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ให้จำคุก ๕ ปี

             หมายเหตุ- เรียงตามลำดับการพิพากษาตัดสินคดี

             หลักกฎหมายที่ใช้พิจารณา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒


            โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูก คุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น” 

              หมายความว่า ในคดีอาญา หรือคดีที่มีโทษทางอาญา เมื่อศาลพิจารณาคดีแล้วเสร็จ ศาลจักต้องมี “ คำพิพากษาหรือคำสั่ง”  ทั้งนี้ โทษทางอาญาได้แก่ ประหารชีวิต , จำคุก, กักขัง, ปรับ หรือริบทรัพย์สิน  (มาตรา ๑๘)

               ตามปกติศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย (หากได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดและการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด หรือไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ) เช่น

      จึงมีคำพิพากษาให้ “ประหารชีวิต”  หรือ “จำคุกมีกำหนด.........” , หรือ “ให้กักขังมีกำหนด.......”, หรือ “ ปรับเป็นเงินจำนวน.........” หรือ “ริบทรัพย์สิน”

                 ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ศาลจะกำหนดโทษ (วางโทษ) จำคุกมีกำหนดเป็น........ปี และ/หรือ .........และ/หรือ เดือนและ/หรือ ........วัน และ

       โทษจำคุกจะมีผลนับแต่วันที่ศาลออกหมายจำคุก (ภายหลังอ่านคำพิพากษา)

                 และในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหรือคดีที่มีโทษทางอาญา จำนวนหลายคดี           พร้อมกัน หรือ ต่อเนื่องกัน หรือ ติดต่อกัน  โจทก์(ผู้ฟ้องคดี) จะต้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่เท่าใด คดีอาญาหมายเลขแดงที่เท่าใด (เรียงติดต่อกัน) ทั้งนี้ เพื่อให้จำเลยได้รับโทษจากการกระทำผิดในแต่ละคดี (ทุกคดี ) ต่อเนื่องกันไป เว้นแต่ ศาลจะได้มีคำพิพากษา หรือ คำสั่งเป็นอย่างอื่น  ( ถ้าศาลไม่ได้สั่งเป็นอย่างอื่น ก็ต้องนับโทษเรียงติดต่อกันไป )

                   การนับโทษต่อของศาลนั้น มีเงื่อนไขว่า  “โจทก์ต้องขอ และศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งด้วย”

           แต่ถ้าโจทก์ ( ผู้ฟ้องคดี)  ไม่ได้ขอ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้นับโทษต่อ ศาลก็      ไม่อาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้นับโทษจำเลยในคดีนี้เรียงติดต่อจากโทษในคดีอื่นได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินจากคำขอท้ายฟ้อง ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ ( ห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปจากคำฟ้อง )

                   กล่าวโดยสรุป การที่ศาลจะนับโทษต่อได้ต้องได้ความว่า โจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) ได้มีคำขอให้ศาลนับโทษต่อ และ ศาลได้มีคำพิพากษาให้นับโทษต่อด้วย 

                  เมื่อกลับมาพิจารณา “คณิตศาสตร์ แบบ นิติศาสตร์” ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า

                 ๑. คดีแรก (ปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์) และคดีที่สอง (หวยบนดิน) โจทก์ผู้ฟ้องคดี คือ แต่เดิม คือ คตส. ต่อมา ป.ป.ช. (เข้ามาเป็นคู่ความแทน คตส.)   ไม่ได้มีการขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้นับโทษต่อกัน

                  ๒. คดีที่สาม (เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป)โจทก์ คือ อัยการสูงสุด” ( มีการขอนับโทษต่อ)

                  ๓. เหตุที่คดีแรกและคดีที่สอง (คดี ป.ป.ช.) ไม่ได้มีการขอนับโทษต่อเนื่องจาก

                   ลำดับการพิพากษาคดีทั้งสาม” ไม่ได้เป็นไปตาม “ลำดับของการฟ้องคดีทั้งสาม” (ฟ้องก่อนแต่ตัดสินหลัง)  กล่าวคือ

 

                   ๓.๑  ลำดับการฟ้องคดี : (คดีที่สอง) คดีหวยบนดิน , /(คดีแรก) คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ และ / (คดีที่สาม) คดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

                 ๓.๒ แต่ลำดับการพิพากษาของศาล :  (คดีแรก)คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์,  /(คดีที่สอง) คดีหวยบนดิน และ /(คดีที่สาม) คดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

          จะเห็นได้ว่า ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีหวยบนดิน (ฟ้องเป็นคดีที่สอง) นั้นยังไม่มีคำพิพากษาของคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์,  (เพราะฟ้องเป็นคดีแรกแต่ศาลยังไม่ได้ตัดสินคดี) จึงไม่อาจมีหรือไม่อาจขอนับโทษ (จำคุก) ในคดีหวยบนดิน ต่อจาก คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ได้

          และในขณะที่ ป.ป.ช โจทก์ฟ้อง คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ (ฟ้องเป็นคดีแรก) นั้น ป.ป.ช โจทก์ ก็ยังไม่ได้ฟ้องคดีหวยบนดิน (ฟ้องเป็นคดีที่สอง) จึงไม่มี (ไม่อาจ) จะขอนับโทษคดีหวยบนดิน  ต่อจาก คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ได้ (เพราะยังไม่ได้ฟ้อง)

                 ฉะนั้น เมื่อ โจทก์ (ป.ป.ช.) ไมได้ขอนับโทษต่อด้วยเหตุดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้นับโทษต่อ (คดีแรกและคดีที่สองต่อจากกันได้)ดังข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างแล้ว

                 ฉะนั้น คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ (จำคุก ๓ ปี) และ คดีหวยบนดิน (จำคุก ๒ ปี) จึงต้องนับโทษซ้อนกันไป ซึ่งก็คือ จำคุก ๓ ปี  มิใช่ ๕ ปี ( เนื่องจากไม่ได้มีการขอให้นับโทษต่อ)

               ส่วนคดีที่สาม (คดีแก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป)  จำคุก ๕ ปี นั้น อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ และ มีการขอนับโทษต่อ ฉะนั้น จึงนำโทษจำคุก ๕ ปีในคดีที่สามนี้ มานับโทษเรียงติดต่อจากคดีที่หนึ่งและสอง ( ซึ่งนับโทษซ้อนกัน รวม จำคุก ๓ ปี)

                จึงเป็นที่มา “สาม บวกสอง บวกห้า เท่ากับแปดปี ไม่ใช่ สิบปี”

                คณิตศาสตร์แบบนิติศาสตร์” หาใช่ “คณิตศาสตร์แบบคณิตศาสตร์” ตามที่เราเคยเรียนมาไม่


 

 นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง)ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

 ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖

ความคิดเห็น