POSTNEWS​ ​ONLINE​ เริ่มต้นด้วยการทำบุญ ลงท้ายด้วยบาป เริ่มต้นด้วยการลงทุน ลงท้ายด้วยความตาย ​

        *เริ่มต้นด้วยการทำบุญ ลงท้ายด้วยบาป เริ่มต้นด้วยการลงทุน ลงท้ายด้วยความตาย *


         สืบเนื่องจากข่าว นางสาว อ.ภรรยาของอดีตนายตำรวจ ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐาน “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน”  ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ได้บัญญัติโทษไว้เพียงสถานเดียวคือโทษ “ประหารชีวิต” โดยมีผู้ที่ใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องหรือใกล้ตัวกับผู้ต้องหาถึงแก่ความตายเป็นจำนวนมาก(ขณะเขียนมีจำนวน 14 รายแล้ว)  และมีทรัพย์สินของผู้ตายหายไปด้วย

        ปฐมบทเริ่มจาก การตายอย่างปริศนาของนางสาว ก. ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะเดินทางไปปล่อยปลากับ นางสาว อ. ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นอดีตภรรยานายตำรวจ ซึ่งปรากฏภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่า นอกจากนางสาว อ.จะไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแล้วยังน่าเชื่อว่าจะนำเอาโทรศัพท์มือถือและทรัพย์สินของนางสาว ก. ขึ้นรถไปด้วย จึงได้สร้างความคลางแคลงใจให้กับคนในครอบครัวซึ่งเชื่อว่าน่าจะถูกฆาตกรรม มิใช่ตายโดยพยาธิภาพของโรค จนในที่สุดมีการตรวจพบ “สารไซยาไนด์” ในร่างกายของผู้ตาย  จึงเชื่อว่า ผู้ตายจะถูกวางยาพิษ (สารไซยาไนด์) 

        จากนั้น ได้มีการขยายผลไป จึงพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ต้องหาถึงแก่ความตายอีกจำนวนมากกว่าสิบรายในลักษณะเดียวกัน หรือคล้ายกันกับ นางสาว ก.ผู้ตายในคดีนี้  โดยมีพฤติการณ์เริ่มจากการชักชวนให้เล่นแชร์ ชักชวนให้ร่วมลงทุน ชักชวนให้ดูดวงดูหมอ ชักชวนให้ทำบุญสะเดาะเคราะห์ และเมื่อสนิทสนมกันแล้ว ก็มีการไปมาหาสู่กันแล้ว จากนั้น (อาจจะ/น่าเชื่อว่า) ชักชวนให้ เหยื่อ / ผู้ตาย ดื่ม, กิน อาหารหรือเครื่องดื่ม กินยาหรือทานยา จากนั้นเหยื่อก็จะเสียชีวิตในที่สุด (บางรายตายเฉียบพลัน  บางรายค่อยค่อยหมดสติและเสียชีวิตไป)   

        ลองย้อนกลับไปมองอดีตพบว่าก่อนหน้านี้ เมื่อปี พ.ศ.2555 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีอดีตผู้ช่วยพยาบาลสาว วางยาฆ่าสามี โดยปลอมเอกสารเพื่อหวังเอาเงินประกัน แม้ว่าศาลจะพิพากษา“ยกฟ้อง”ข้อหาความผิดต่อชีวิต เหตุเพราะโจทก์ ไม่มีพยานนำสืบแน่ชัดเรื่องเสียชีวิตจากวัตถุออกฤทธิ์ แต่ข้อหาปลอมเอกสารเอาเงินประกัน หลักฐานแน่น และข้ออ้างจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี

ไซยาไนด์ (Cyanide) :  key word   แห่งคดี

ไซยาไนด์ (Cyanide) คือ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีไซยาไนด์ไอออน (CN-) เป็นองค์ประกอบ สารเคมีกลุ่มนี้มีความเป็นพิษสูงมาก มักพบในรูปของสารประกอบโลหะอัลคาไลด์ที่เป็นของแข็งสีขาว และสารประกอบโลหะหนัก พบได้มากในพืชในรูปของกรดไฮโดรไซยานิค สามารถวิเคราะห์หาได้ในรูปของไซยาไนด์ไอออน สามารถวิเคราะห์หาไซยาไนด์ได้โดยใช้วิธีการกลั่น (Distillation Measurement) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไป ยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

        ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษสิ่งทอและพลาสติกสามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศดิน น้ำ และอาหาร และไซยาไนด์สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์  อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

พิษของไซยาไนด์

ดังที่กล่าวแล้วว่า ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ที่สามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจเป็นผลมาจากกระบวนการทางธรรมชาติและจากกิจกรรมต่างๆในภาคอุตสาหกรรม 

โดยไซยาไนด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้ง ทางปาก การหายใจ และการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและตา โดย

ระดับความรุนแรง จากพิษของไซยาไนด์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ 

1. (1)  ชนิดของสิ่งมีชีวิต 

2. (2)  ระยะเวลาการได้รับ  

3. (3)  ปริมาณที่ได้รับ และ

4. (4) เส้นทางการได้รับ เช่น การหายใจ การกลืน หรือการฉีด เป็นต้น

โดยผลกระทบจากการได้รับ ไซยาไนด์ แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. ภาวะเป็นพิษ แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ 

เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น

2. ภาวะเป็นพิษ แบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็น

เวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิด อาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลาย เป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

การวางยาพิษ :    ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 
         คำพิพากษาศาลฎีกา 2832/2538
                จำเลยได้นำ น้ำส้มผสมยาฆ่าแมลง ไปถวายพระภิกษุผู้เสียหาย โดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แม้จำเลยจะมีเจตนา ฆ่าเฉพาะผู้เสียหาย แต่เมื่อผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นแก่ ผู้ตายโดยพลาดไปก็ต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 ด้วย จำเลยมีความผิดตามมาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 60
       “ วางยาพิษ แต่ยาพิษไม่มากพอ ฟังไม่ได้ว่าเป็นเจตนาฆ่า”
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2542
        จำเลยที่ 2 ได้นำยาฆ่าแมลงซึ่งมีสารพิษชนิดมีโธมิลผสมน้ำใส่ในขวดยาลดไข้พาราเซตามอลชนิดน้ำ แล้วใช้ให้จำเลยที่ 1 นำไปให้ผู้เสียหายดื่มเมื่อผู้เสียหายดื่มยาลดไข้ผสมสารพิษชนิดมีโธมิลแล้วก็เกิดอาเจียนและจำเลยที่ 1ใช้นิ้วล้วงคอให้ผู้เสียหายอาเจียน จนกระทั่ง ส.นำน้ำมาให้ดื่ม ผู้เสียหายก็อาเจียนอีกและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองผู้เสียหายมาก่อน ประกอบกับสารพิษมีโธ มิลต้องกินเข้าไปในปริมาณมากพอจึงจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนี้ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายให้เจ็บป่วยเท่านั้น และศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 2ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความนี้ได้
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3056/2545
        แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าร่วมกันวางแผนใช้ยานอนหลับผสมในเครื่องดื่มให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่ม และร่วมกันลักทรัพย์หลายรายการในขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองหลับก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณากลับปฏิเสธว่ามิได้กระทำเช่นนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นชาวต่างชาติ จึงเป็นไปได้ว่าล่ามอาจแปลคำให้การไม่ถูกต้อง ดังนั้น ลำพังคำให้การในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามนั้นได้ โจทก์ยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานอื่นมาสืบให้มั่นคงและฟังได้ว่ามียานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วงปนอยู่ในเครื่องดื่มที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มจริงตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานการตรวจพิสูจน์เครื่องดื่มว่ามีส่วนผสมของยานอนหลับอยู่ด้วย ทั้งไม่มีผลการตรวจร่างกายของผู้เสียหายทั้งสองมาแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้เสียหายทั้งสองนอนหลับเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มียานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วง กรณีจึงยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใส่ยานอนหลับในเครื่องดื่มให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดเพียงฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง
  เมื่อรู้จักกับ “สารไซยาไนด์ (Cyanide)”  แล้ว มาลองคิดกันดูว่า
1. เหตุใด บุคคลใกล้ชิด/เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ล้วนเสียชีวิตด้วยอาการของโรค คล้ายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก ไซยาไนด์ (Cyanide) ไม่ว่าจะเป็น “ภาวะพิษแบบเฉียบพลัน” หรือ “ภาวะพิษแบบเรื้อรัง”  
2.  หากสภาวะการตายของผู้ตายที่ระบุใน “ใบรับรองการตาย” ในทำนองว่า  “ หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ” ซึ่งเป็นภาวะพิษแบบเฉียบพลัน หรือ ระบุว่า“ อาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง ม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า”  ซึ่งเป็นภาวะพิษแบบเรื้อรัง  อันทำให้น่าเชื่อว่า “ผู้ตาย ตายด้วยพยาธิสภาพของโรค”  โดยไม่มีใครคิดว่า ผู้ตายจะถูกวางยาพิษ ( สารไซยาไนด์ (Cyanide) จึงไม่มีการส่งศพไปผ่าศพพิสูจน์โดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุการตาย และเมื่อมีการเผาศพไปแล้ว ก็ยากที่จะมีพยานหลักฐานยืนยันว่า ผู้ตาย ตายด้วยสาเหตุใด หรือ ตายเนื่องจากการถูกวางยาพิษ หรือ สารไซยาไนด์ (Cyanide) หรือไม่ ? 
3. ดังที่กล่าวแล้วว่า “สารไซยาไนด์ (Cyanide) สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้ง ทางปาก ทางการหายใจ และทางการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและตา”  ดังนั้น แม้บางรายอาจจะตรวจพบสารไซยาไนด์ (Cyanide)ในศพหรือผู้ตายจากการผ่าศพพิสูจน์ก็ตาม  แต่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า “สารไซยาไนด์ (Cyanide) เข้าไปอยู่ในร่างกายของผู้ตายได้ด้วยวิธีการใด และใครเป็นผู้ที่ทำให้สารไซยาไนด์ (Cyanide)เข้าไปสู่ร่างกายของผู้ตายด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งหากพิสูจน์ไม่ได้หรือไม่มีหลักฐาน ก็อาจเป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้องได้ 

ในอดีตก็เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในลักษณะเช่นนี้
       ในคดีที่พนักงานอัยการกองคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาง ณ.อดีตผู้ช่วยพยาบาลเป็นจำเลยในความผิดฐาน “ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อหวังเงินประกันโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเคลื่อนย้ายทำลายศพเพื่อปิดบังการตาย แจ้งความเท็จ ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ฉ้อโกง มีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 และ 4 ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย”
            คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดกฎหมายหลายบทหลายกรรม โดยปลอมและใช้เอกสารปลอมในการทำประกันชีวิต และประกันอุบัติเหตุให้กับนาย ร. อดีตสามี โดยทำประกันไว้กับบริษัทต่างๆ ถึง 18 บริษัท รวม 20 กรมธรรม์วงเงิน 40,645,000 บาท โดยมีจำเลยเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ จากนั้น จำเลยได้วางแผนฆ่าผู้ตาย โดยแอบใส่ยาพิษให้ดื่มจนมีอาการง่วงซึมขณะขับรถ และประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำขณะเดินทางไป จ.สระบุรี เมื่อถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน จำเลยยังได้ลักลอบ ใส่ยาพิษร้ายแรงลงในกาแฟให้ดื่ม จนเป็นเหตุให้นาย ร.ถึงแก่ความตายสมเจตนา เพื่อหวังผลประโยชน์จากการทำประกัน หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นบ้านพักจำเลยใน จ.สระบุรี พบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท 2 และประเภทที่ 4 จำนวนมาก จึงตรวจยึดไว้เป็นของกลาง โดยจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา... 
       ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า ให้จำคุกฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม 18 ปี ฐานปลอมเอกสารสิทธิ์เพื่อรับผลประโยชน์ 2 ปี รวม 20 ปี ส่วนข้อหาพยายามฆ่า พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่ชัดเจนเพียงพอว่าผู้ตายรับสาร “ไซยาไนด์” เพราะผู้ตายได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรงอาจเสียชีวิตเพราะโรคแทรกซ้อนก็ได้ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น 
            ต่อมาอัยการโจทก์และจำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่า และพยายามฆ่านั้น ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เชื่อได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ตายเสียชีวิตลงจากวัตถุออกฤทธิ์ มีเพียง นาง ฉ. น้องสาวผู้ตาย เบิกความว่า ก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตได้ไปเยี่ยม เมื่อสอบถามผู้ตายก็จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทราบเพียงว่าไปดื่มกาแฟที่บ้านจำเลย ส่วนจำเลยเบิกความว่าไม่ได้เป็นคนชงกาแฟให้ผู้ตายดื่ม อีกทั้งคำเบิกความของพยานโจทก์ที่เป็นแพทย์ ก็ขัดแย้งกันเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนเรื่องที่จำเลยนำศพผู้ตายไปฌาปนกิจก่อนที่จะผ่าชันสูตรศพนั้น ศาลเห็นว่าเรื่องการผ่าชันสูตรศพเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ให้การรักษา เมื่อแพทย์ได้มอบศพให้จำเลยนำไปประกอบพิธีทางศาสนาจึงไม่ได้เป็นการกระทำโดยพลการสำหรับข้อหาปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ฉ้อโกง ลงลายมือชื่อของผู้ตายในสำเนาเอกสารต่างๆ เพื่อนำไปยื่นกับตัวแทนบริษัทประกันชีวิตนั้น เห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายยินยอมให้จำเลยกระทำ เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ตายจะให้จำเลยไปเอาประกันเอง อีกทั้งผู้เอาประกันจะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทประกันและผู้ตาย จำเลยจึงมีความผิดฐาน ปลอมและใช้เอกสารปลอม ฐานปลอมเอกสารสิทธิเพื่อรับผลประโยชน์ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 20 ปีจำเลยนั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
4. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 บัญญัติว่า
           “ ให้ศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำผิด  เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ” 
              ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้ ศาลมักจะนำมาเป็นเหตุผลในการพิพากษา “ยกฟ้อง”  ฉะนั้น ในคดีที่ไม่มีการผ่าศพพิสูจน์โดยละเอียด หรือแม้แต่คดีที่มีการผ่าศพพิสูจน์โดยละเอียดก็ตาม หากพนักงานสอบสวนจะสั่งฟ้องดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในความผิดฐานนี้ จักต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้มั่นคงดังกล่าว หากแม้จะมีเหตุอันควรน่าเชื่อว่า ผู้ต้องหาเป็นกระทำผิด แต่พยานหลักฐานไม่มั่นคง เช่นพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่า “ผู้ต้องหาเป็นผู้นำสารไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายของผู้ตายได้อย่างไรและทางใด เช่น ทางปาก ทางการหายใจ และทางการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและตา และด้วยวิธีการใด (เช่น ให้ดื่มให้กินอาหารหรือยาให้ฉีดเหรือสูดดมข้าร่างกาย เป็นต้น) และในร่างกายของผู้ตายมีการตรวจพบ สารไซยาไนด์ และพบในปริมาณที่มากพอที่จะทำให้ถึงแก่ความตายได้   ก็อาจเป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้องได้ 
จึงเป็น “ความยากและท้าทาย” ของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องรักษา “ดุลภาคระหว่างความยุติธรรม กับความสงบสุขของสังคม ”และ“ ความเป็นธรรมตามตัวบทกฎหมาย กับ ความเป็นธรรมตามความเป็นจริง” , ความจริงที่เห็นเบื้องหน้า (บุคคลแวดล้อมใกล้ชิดถึงแก่ความตาย) กับ พยานหลักฐานที่ปรากฏ (บางรายไม่มีการผ่าศพพิสูจน์โดยละเอียด และมีการเผาศพไปแล้ว ไม่เหลือพยานหลักฐานจากศพแล้ว) ยังไม่รวม บทกฎหมายที่คุ้มครอง จำเลยที่ “วิกลจริต” หรือ จำเลย “มีครรภ์” หรือ “จำเลยที่คลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น” ที่ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246) และยังมี บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65  ที่บัญญัติ ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้น ไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น (แต่จำเลยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ขณะกระทำผิดนั้น ตนเองไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน) 
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
        บทสุดท้ายของคดีนี้จะจบอย่างไร “ดุลภาคระหว่างความยุติธรรม กับความสงบสุขของสังคม”  และ “ความเป็นธรรมตามตัวบทกฎหมาย กับ ความเป็นธรรมตามความเป็นจริง” , ความจริงที่เห็นเบื้องหน้า กับ พยานหลักฐานที่ปรากฏ ฝ่ายใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน  คงต้องติดตามต่อไป

 
* นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
อดีต รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน​สภาผู้แทนราษฎร



ความคิดเห็น